กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เข้าร่วมพิธียกระดับ “ด่านทางบกหลงปัง (กว่างซี) - ด่านจาลิงห์ (เวียดนาม)” เป็นด่านสากลระหว่างประเทศ

กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เข้าร่วมพิธียกระดับ “ด่านทางบกหลงปัง (กว่างซี) - ด่านจาลิงห์ (เวียดนาม)” เป็นด่านสากลระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ม.ค. 2567

| 442 view

ในระหว่างวันที่ 27 - 28 ธันวาคม 2566 นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และผู้แทนหน่วยงานทีมประเทศไทย ประกอบด้วย นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และนายนิติ ประทุมวงษ์ กงสุลฝ่ายพาณิชย์ ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง พร้อมคณะกงสุลอาเซียนประจำนครหนานหนิง ได้เข้าร่วมพิธียกระดับ “ด่านหลงปัง - ด่านจาลิงห์” รวมถึงช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี (Naxi) – นา ดอออง (Na Doong) เป็นด่านสากลระหว่างประเทศ และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องที่เมืองระดับอำเภอจิ้งซี เมืองไป่เซ่อ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

พิธียกระดับ “ด่านหลงปัง - ด่านจาลิงห์” เป็นด่านสากลระหว่างประเทศ จัดขึ้นบริเวณพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองด่านหลงปัง (จีน) - ด่านจาลิงห์ (เวียดนาม) โดยมีนาง Yang Jinghua รองหัวหน้าคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนประชาชนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และนาย Hoang Xuan Anh รองเลขาธิการสามัญจังหวัดกาวบั่งและประธานกรรมการประชาชนจังหวัดกาวบั่ง เป็นประธานในพิธีดังกล่าว

ภายหลังพิธียกระดับด่านสากลแล้ว กงสุลใหญ่ฯ และคณะได้เดินทางไปยังช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี (Naxi) –  นา ดอออง (Na Doong) เพื่อเข้าร่วมพิธีปล่อยรถบรรทุกขนส่งสินค้า และศึกษาดูงานระบบสารสนเทศและการจัดการด่านอัจฉริยะที่ศูนย์ควบคุมด่านอัจฉริยะ (Longbang Smart Border Gate) ซึ่งถือเป็นต้นแบบด่านทางบกอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศจีนที่เริ่มใช้งาน

“ด่านหลงปัง” ครอบคลุมช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี (Naxi Channel) ตั้งอยู่ในเมืองระดับอำเภอจิ้งซี ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองไป่เซ่อ เขตฯ กว่างซีจ้วง อยู่ตรงข้ามกับด่านจาลิงห์ จังหวัดกาวบั่งของเวียดนาม อยู่ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานของเมืองฉงจั่วประมาณ 120 กิโลเมตร และเป็น 1 ใน 10 ด่าน ทางบกของจีนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับ การส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

ด่านแห่งนี้มีความพร้อมด้านระบบคมนาคมขนส่งในการลำเลียงสินค้า ทั้งทางรถบรรทุกและทางรถไฟ รวมถึงความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ทันสมัย และมีความเป็นสัดส่วน กล่าวคือ ด่านหลงปังเดิมใช้งานด้านการตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั้งหมดจะใช้ช่องทางขนส่งสินค้าน่าซีที่มีความกว้างขวาง มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ประกอบด้วย 4 พื้นที่ในการปฏิบัติงาน คือ เขตการค้าทั่วไป เขตการค้าชายแดน เขตการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และเขตสินค้าทัณฑ์บน

ด่านหลงปัง จึงเป็น “ประตูเชื่อมจีน-อาเซียน” อีกหนึ่งบานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า และเป็นศูนย์การขนถ่ายกระจายสินค้าระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสใหม่ในการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดปลายทางในจีนตะวันตกได้ง่ายขึ้นอีกทางด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ