กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสามัญสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 และองค์การความร่วมมือระหว่างเมือง ครั้งที่ 4

กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสามัญสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 และองค์การความร่วมมือระหว่างเมือง ครั้งที่ 4

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ธ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ธ.ค. 2566

| 319 view

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสามัญสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 และองค์การความร่วมมือระหว่างเมือง ครั้งที่ 4 ที่เมืองฉงจั่ว วัตถุประสงค์ของการประชุมคือเพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอ่าวเป่ยปู้ โดยมีหัวข้อการประชุมในปีนี้ “การสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ท่าเรือและชายแดน และการร่วมสร้างความรุ่งเรืองครั้งใหม่ให้แก่องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้” มีผู้ร่วมการประชุมฯ ประมาณ 180 คน จากหน่วยงานรัฐบาลกลาง หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น สมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้จาก 11 เมือง องค์กรวิสาหกิจ และภาควิชาการ โดยมีบุคคลสำคัญ ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ ได้แก่ นายหลัน เสี่ยว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเมืองฉงจั่ว นายฉือ เวย นายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว กงสุลใหญ่กัมพูชา และกงสุลพาณิชย์เวียดนาม ประจำนครหนานหนิง เป็นต้น

ในช่วงพิธีเปิดการประชุมฯ กงสุลใหญ่ฯ ได้มีคำกล่าวนำเสนอข้อคิดเห็นที่สำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การประชุมองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และองค์การความร่วมมือระหว่างเมือง เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียนได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่มีสมาชิกจากเมืองต่าง ๆ ที่เป็นผู้ดูแลระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศ ประการที่สอง ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันเพื่อการเชื่อมโยงในทุกมิติและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเห็นถึงโอกาสและประโยชน์ของการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประการที่สาม ควรหมั่นดูแลการเชื่อมโยงในเรื่องกฎระเบียบและยกระดับการให้บริการต่าง ๆ และนำเทคโนโลยีแบบอัจฉริยะมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนและมีระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยไทยยินดีที่จะต้อนรับและร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานสะอาด ยานยานต์พลังงานใหม่ เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ