ดอน ปรมัตถ์วินัย กับภาพแห่งความทรงจำ เรื่องเล่าสัมพันธ์ไทย - จีน

ดอน ปรมัตถ์วินัย กับภาพแห่งความทรงจำ เรื่องเล่าสัมพันธ์ไทย - จีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 372 view

2021-10-14-1

      หมายเหตุ “มติชน” – ใกล้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม ที่ถือเป็นวันชาติจีน จึงถือโอกาสคุยกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนไทยในวันที่เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตใหม่กับจีน ที่ถูกบันทึกไว้ในภาพประวัติศาสตร์เมื่อปี 2518 และยังเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน ซึ่งยังคงรับหน้าที่สำคัญในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

      ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์กับจีนที่ศาลามหาประชาคมก่อนมีงานเลี้ยงโดย นายเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นเจ้าภาพเพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกครั้งหนึ่งในปี 2518 ปีนั้นเป็นปีที่มีความสำคัญในด้านการต่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่องที่เรารับรู้กัน นอกเหนือจากเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ก็เป็นปีเดียวกับที่สงครามเวียดนามยุติ สหรัฐอเมริกาได้ถอนทหารออกไป 

      ภาพนี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ ผู้ใหญ่ฝั่งไทยนอกจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์แล้วยังมี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นต้น หัวหน้ากองในตอนนั้นคือคุณเตช บุนนาค ส่วนผมเป็นเลขานุการโท และเป็นนักการทูตที่เด็กที่สุดที่ไปทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะ

ผมต้องไปเตรียมการเป็นคณะล่วงหน้ากับท่านอธิบดีกรมพิธีการทูตและเจ้าหน้าที่จากกรมเอเชียตะวันออก เราไปกัน 4 เมืองคือปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และคุนหมิง แต่การไปครั้งนั้นถือเป็นการไปจีนครั้งที่ 2 เพราะก่อนหน้านั้นหลายเดือน ผมเพิ่งไปแวะเปลี่ยนเครื่องที่ปักกิ่งเพื่อไปยังกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือร่วมกับคณะนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติ สมัยนั้นการไปปักกิ่งมีวิธีเดียวคือต้องไปฮ่องกง จากนั้นก็นั่งรถไฟไปกว่างโจวแล้วต่อเครื่องบินไปปักกิ่ง
การเดินทางไปจีนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย  - จีน เอกอัครราชทูตไทยคนแรกหลังเปิดความสัมพันธ์คือ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี ซึ่งมีความหมายมาก เพราะคนที่ถือเป็นคนเก่งของกระทรวงการต่างประเทศยุคนั้นนอกจากคุณอานันท์ก็คือ ม.ร.ว. เกษมสโมสร จึงถือเป็นการวางรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดี ส่วนเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยคนแรกคือ นายไฉ เจ๋อหมิน ก็เป็นผู้อาวุโสมาก เคยเป็นทูตมาแล้วหลายประเทศ หลังจากไทยท่านก็ไปเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา
ครั้งแรกสถานเอกอัครราชทูตจีนในไทยเช่าอาคารแถว ถ. วิสุทธิกษัตริย์ ขณะที่รัฐบาลจีนได้จัดสรรที่ ถ. กวางฮว๋า ให้ใช้เป็นที่ตั้งทำเนียบและที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต จนระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นที่ทำการสถานทูตอยู่ตรงข้ามกับทำเนียบเอกอัครราชทูตบนถนนเส้นเดียวกัน ซึ่งอยู่ในจุดที่มีความสำคัญ ไม่ห่างจากกระทรวงการต่างประเทศจีนในแง่การติดต่องาน และไม่ห่างจากจงหนานไห่สำนักนายกรัฐมนตรีจีน พระราชวังโบราณและจตุรัสเทียนอันเหมิน คืออยู่ในจุดที่ดีที่สุดและถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ ใกล้กันก็มีสถานทูตสหรัฐฯ อังกฤษ เวียดนาม โรมาเนีย โปแลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น
เมื่อปี 2543 ที่สมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จเยือนจีน ผมได้เห็นสถานทูตของเราที่นั่นก็รู้สึกว่าทรุดโทรมไปเยอะจากนั้นตอนผมไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนก็มอบหมายให้อัครราชทูตรับหน้าที่จัดหาสถานที่ใหม่ แต่เรื่องนี้ใช้เวลานานมาก ถือว่าเราได้โชคช่วยไม่อย่างนั้นก็คงต้องออกไปอยู่ในจุดที่ไกลออกไป เพราะจุดที่สถานทูตไทยตั้งอยู่เป็นที่ทอง ปลอดภัย สงบ และเดินทางสะดวก
ช่วงที่ประจำการอยู่ที่จีนในปี 2544 - 2547  เป็นช่วงที่ทำให้มีโอกาสรู้จักเมืองจีนอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ผมได้ไปเริ่มต้นหลายเรื่องและทำอีก 2 - 3 อย่างในมุมอาเซียน เรื่องแรกคือได้ไปตั้งการรวมตัวของทูตอาเซียนให้มีขึ้นเป็นประจำ เชิญผู้ใหญ่จีนมาคุยกับพวกเราทุกเดือน โดยประเทศอาเซียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการเชิญนายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนไทยเพื่อประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนเรื่องการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) ในปี 2546
ผมได้หยิบยกการเชิญดังกล่าวขึ้นมาคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายจีนที่มาคุยกับทูตอาเซียนว่า หากท่านเหวิน เจีย เป่า ไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียน ก็จะเป็นโอกาสดีที่โลกจะได้รับรู้ว่าจีนดูแลเรื่องโรคซาร์สในประเทศอย่างไร นั่นเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากที่ท่านขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ ทั้งที่ปกติการเยือนของผู้นำจีนจะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี
เรื่องนี้เป็นการสอนเรื่องการต่างประเทศให้ผมว่าถ้าเราคิดอะไรแล้วมันมีเหตุมีผล อย่าปากหนัก อีกครั้งที่ผมนำวิธีนี้ไปใช้ก็ตอนที่เป็นเอกอัครราชทูตอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และทำให้ คุณชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้ไปพูดตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ดาวอส ซึ่งตอนนั้นเขามีผู้บรรยายหลักอยู่แล้วคือ เฮลมุท โคห์ล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี การทูตมีหลายทาง เราต้องคิดถึงทางออกและทางเลือกตลอดเวลาในการหารือ
ประการต่อมา แทนที่เราจะออกไปมณฑลอื่นของจีนเพียงลำพัง เราจะเชิญทูตอาเซียนให้เดินทางไปร่วมกันหลายประเทศ ทำให้เพื่อนอาเซียนเห็นช่องทางที่จะไปรู้จักมณฑลอื่น ๆ ของจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้รับก็พร้อมจะเจอทูตอาเซียนหลายคนพร้อมกันมากกว่าจะเจอเดี่ยว ๆ
ช่วงที่ประจำการอยู่ในจีน การทำงานสนุกและมีความหมาย ได้เรียนรู้และรู้จักจีนว่าเขาทำงานกันอย่างไร และการพัฒนาประเทศของจีนเป็นอย่างไร เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าจีนเป็นอารยธรรมโบราณ ผ่านร้อนผ่านหนาวและการต่อสู้มามาก และต้องฟันฝ่าเป็นเอกราชจากการยึดครองโดยโลกตะวันตก มีการต่อสู้กันภายในจนมาถึงจุดที่เปิดตัวเองได้ว่ามีเพื่อนอยู่รอบโลก
จีนผลิตของตั้งแต่ที่อยู่ในระดับธรรมดา อย่างของชิ้นละ 20 บาทที่เห็นในไทย เขาผลิตเพื่อให้คนทั่วไปในสังคมซื้อหามาใช้ได้ แต่คนที่ซื้อจะคิดว่านี่คือมาตรฐานสินค้าจีนซึ่งมันไม่ใช่ เพราะแต่ของดีมีคุณภาพจีนก็มีเช่นกัน เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปด้วยเหมือนที่ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศก็ทำกัน ไม่ใช่ว่าก็อปปี้อย่างเดียว
ที่น่าทึ่งคือเวลาเขาผลิตสินค้า เขาพัฒนาสินค้าไปได้เร็วมากและราคาถูกกว่า ของที่เคยคิดว่าจะขายได้ผ่านไปแค่ 2-3 ปีก็ขายในจีนไม่ได้แล้ว นอกจากนี้จีนยังใช้วิธีไปลงทุนในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ เพื่อทำแบรนด์สินค้าโดยใช้มาตรฐานของประเทศที่เขาเข้าไปลงทุนได้เลย
การที่จีนพัฒนาได้เพราะเขามีวิธีจัดการกับเรื่องต่าง ๆ คนของเขาปราดเปรื่องและไม่หยุดนิ่ง หามุมมองใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายและเจตนารมย์ของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จึงไม่แปลกใจที่ทำไมจีนถึงพัฒนาไปได้ขนาดนี้ และเข้าใจที่ของจากจีนขายได้มาก เพราะทุกประเทศกลายเป็นช่องทางระบายสินค้าของจีนได้ทั้งหมด เขาทำให้สินค้าทุกอย่างมีราคาที่สามารถจับต้องได้ อย่างรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) จีนก็พัฒนาไปได้ไกลมาก
ผมโตมาในเมืองตะวันตกแต่ได้ประสบการณ์ในโลกตะวันออก ทำให้เห็นมุมเปรียบเทียบเยอะ จีนวันแรกที่เห็นกับวันนี้มันคนละเรื่องกัน ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์อย่างนี้และคงไม่ได้เห็นอีกแล้วที่ประเทศไหนจะเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลขนาดนี้ในเวลาไม่ถึง 40 ปี จากปีที่ไปลงนามฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาถึงวันนี้ จีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไม่มีประเทศไหนที่สามารถทำได้อีกแล้ว
ความกระตือรือร้นเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติ สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ไปถึงเป้าหมายของเขา ซึ่งมาจากการบ่มเพาะปลูกฝัง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจีนเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่ผมไม่ได้มองในแง่วัตถุเพียงอย่างเดียว เราอยากจะเห็นว่าในความพยายามและการพัฒนาเรื่องราวต่าง ๆ มันมีสิ่งที่พร้อมจะแบ่งปันกับคนทั่วโลกได้ด้วย เป็นการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข นำพาอนาคตของทุกคนให้เดินต่อไปตามเป้าหมายร่วมกันของคนทุกคนก็คือมีความสุข แม้ความสุขจะมีการตีความตามวิธีคิดของแต่ละคน แต่สุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ ไม่เดือดร้อนสมหวังในสิ่งต่าง ๆ สุขภาพกายใจสมบูรณ์ไม่ป่วยไข้ ซึ่งก็คือความสุขอย่างหนึ่งทั้งนั้น
สิ่งที่เราต้องการในฐานะประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย คือการเป็นเพื่อนบ้านกับทุกประเทศอย่างที่เราเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราอยากเห็นทุกประเทศจับมือกัน ร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปะทะหรือประจันหน้ากันซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับโลกและสำหรับอนาคต เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศใหญ่อย่างจีน - สหรัฐฯ หันหน้ามาจรรโลงโลกร่วมกัน ผนึกกำลังกันรับมือกับภัยคุกคามต่าง ๆ อย่างภัยธรรมชาติ หรือปัญหาอื่นที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อโลก ผนึกกำลังกันรับมือเพื่อให้เห็นทางออกที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับโลกนี้ ไม่ใช่ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำประเทศต่าง ๆ ได้รับความบอบช้ำ และเราต้องหาทางฟื้นฟูร่วมกัน แต่จะเป็นไปได้ยากหรือทำไม่ได้หากสภาพบนโลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเป็นปรปักษ์ต่อกันหรือมีความขัดแย้งระหว่างประเทศใหญ่ การส่งเสริมให้หันหน้าเข้าหากัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกันจะทำให้สิ่งที่เป็นภัยต่อโลก ได้รับการดูแลและจัดการโดยผู้ที่มีความสามารถที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้
หวังว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ จะตระหนักว่าอนาคตของชาติอยู่ที่อนาคตของประชาชน ผู้นำประเทศต้องเข้าใจว่าเราต้องมีการผสมผสานระหว่าง Hard Power กับ Soft Power ไม่ต้องเอาชนะคะคาน แต่มุ่งเน้นความสงบสุขเพราะถ้าลงมือกันเมื่อไหร่ทุกอย่างก็พังทลาย