วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ร่วมกับกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู กงสุลเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษาดูงานที่ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ที่ท่าเรือชินโจวเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อศึกษาระบบงานขนส่งหลายรูปแบบ (multimodal transportation) บริเวณท่าเรือชินโจว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน
ท่าเรือชินโจว เป็นท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ มีบทบาทสำคัญในฐานะข้อต่อของยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วย “ระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSTC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง“ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ” (Smart Port) ที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีแกน (core technology) อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง สัญญาณ 5G ระบบควบคุมอัตโนมัติ และระบบพิกัดตำแหน่ง (GPS) มูลค่าการลงทุนกว่า 7,100 ล้านหยวน คาดจะพัฒนาเฟสแรกแล้วเสร็จในปี 2565 และจะทำให้ท่าเรือชินโจวก้าวขึ้นมาเป็นท่าเรืออัจฉริยะแห่งที่ 4 ของประเทศจีน (ต่อจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือชิงต่าว และท่าเรือเซี่ยเหมิน) และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” แห่งแรกของประเทศจีน
เมื่อพิจารณาจากศักยภาพและตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือชินโจว ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการ เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนตะวันตกโดยเฉพาะนครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซี และต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ท่าเรือชินโจวและท่าเรือแหลมฉบังได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ “ท่าเรือพี่น้อง” (sister ports) ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว โดยสายเรือ SITC / PIL / EMC / Wanhai Lines / YangMing Lines และ Sealand MAERSK Asia
รูปภาพประกอบ